รายวิชา ประวัติศาศาสตร์ รหัสวิชา ส22102 คุณครูผู้สอน ครูชาญวิทย์ ปรีชาพาณิชพัฒนา โรงเรียนเสลภูมิพิทยาคม อำเภอเสลภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด

วันเสาร์ที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

ความเจริญด้านการเมืองการปกครองของอาณาจักรสุโขทัย

ความเจริญด้านการเมืองการปกครองของอาณาจักรสุโขทัย
การปกครองของอาณาจักรสุโขทัยเป็นการปกครองแบบดั้งเดิม ซึ่งใช้กันมาเป็นเวลานาน ประชาชนให้การเคารพนับถือพระเจ้าแผ่นดินประดุจบุตรที่ให้การเคารพต่อบิดาของตน เนื่องจาก    พระเจ้าแผ่นดินมีความใกล้ชิด มีความเป็นกันเองกับประชาชน หากประชาชนมีความเดือดร้อน   สามารถที่จะกราบบังคมทูลได้ด้วยตนเอง เปรียบเสมือนเป็นบุคคลในครอบครัวเดียวกัน
อาณาจักรสุโขทัยมีลักษณะการปกครอง ดังนี้ 
                1. การปกครองแบบพ่อปกครองลูก หรือปิตุราชาธิปไตย* ลักษณะการปกครองแบบนี้ถือว่าบิดาเป็นผู้ปกครองครัวเรือนหลายๆ ครัวเรือนรวมกันเป็นบ้านอยู่ในการปกครองของพ่อบ้าน ผู้ที่อยู่ใต้การปกครอง เรียกว่า ลูกบ้าน หลายๆ บ้านรวมกันเป็นเมือง ซึ่งเมืองจะขึ้นอยู่กับการปกครองของเจ้าแผ่นดิน เรียกว่า “พ่อขุน”  การปกครองแบบพ่อปกครองลูกเริ่มใช้ในสมัยพ่อขุนศรีอินทราทิตย์จนถึงสมัยพ่อขุนรามคำแหง เนื่องจากอาณาเขตของอาณาจักรสุโขทัยระยะแรกมีอาณาเขตไม่กว้างใหญ่นัก ประชาชนมีจำนวนน้อย พระมหากษัตริย์ทรงทำหน้าที่ดูแลทุกข์สุขของราษฎรอย่างใกล้ชิดโดยไม่ถือพระองค์ ไม่ถืออำนาจ ให้ความเป็นธรรมแก่ราษฎร ตลอดจนให้การอบรมสั่งสอน                ข้าราชบริพาร และประชาชนด้วยความเมตตากรุณา จึงทำให้พระมหากษัตริย์และประชาชนมีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด กษัตริย์และประชาชนอยู่ในฐานะเป็นมนุษย์เหมือนกัน โดยตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเท่าเทียมกัน เป็นผู้นำในยามศึกสงคราม  หากยามสงบพระองค์ทรงเป็นที่ปรึกษาของประชาชนดังข้อความที่ปรากฏในหลักศิลาจารึกหลักที่ 1 ว่า
“...ในปากประตูมีกระดิ่งอันหนึ่งแขวนไว้หั่น
ไพร่ฟ้าหน้าปกกลางบ้าน กลางเมือง มีถ้อยมีความ เจ็บท้องข้องใจ
มันจักกล่าวถึง เจ้าถึง ขุน บ่ ไว้ ไปสั่นกระดิ่งอันท่านแขวนไว้ ...”

                2. การปกครองแบบธรรมราชา เป็นการปกครองที่มีพื้นฐานมาจากความเชื่อในหลักธรรมของพระพุทธศาสนา โดยผู้ปกครองที่ประชาชนพอใจ มีคุณธรรมสูง สามารถที่จะใช้ธรรมะแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางสังคมที่มีอยู่ทั้งปวงโดยสิ้นเชิง เชื่อกันว่า พระมหากษัตริย์ที่ดีปกครองอาณาประชาราษฎร ได้ร่มเย็นเป็นสุข บ้านเมืองอุดมสมบูรณ์และเจริญรุ่งเรือง จะต้องทรงไว้ซึ่งหลักธรรมได้แก่  ทศพิธราชธรรม* จักรวรรดิวัตร 12 ประการ** ราชจรรยานุวัตร 4 ประการ******
การปกครองพระราชอาณาเขต 
พระราชอาณาเขตของอาณาจักรสุโขทัยระยะแรกๆ ไม่กว้างขวางมากนัก พอมาถึงสมัยของพ่อขุนรามคำแหง พระราชอาณาเขตได้ขยายกว้างขวางมาก การปกครองพระราชอาณาเขตในสมัยนั้นแบ่งได้ ดังนี้
1. เมืองหลวงหรือราชธานี เป็นศูนย์กลางการปกครอง การค้า และใช้เป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์
2. หัวเมืองชั้นในหรือเมืองลูกหลวง มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “เมืองหน้าด่าน” เป็นเมืองที่อยู่รายรอบกรุงสุโขทัย 4 ด้านได้แก่
ทิศเหนือ               เมืองศรีสัชนาลัย เป็นเมืองที่มีความสำคัญมากที่สุด มีพระมหาอุปราชเป็น 
ผู้ปกครอง
ทิศใต้                     เมืองสระหลวง (พิจิตร)
ทิศตะวันออก       เมืองสองแคว (พิษณุโลก)
ทิศตะวันตก          เมืองนครชุม (กำแพงเพชร)
แต่ละเมืองอยู่ห่างจากเมืองหลวงมีระยะทางประมาณ 50 กิโลเมตร เดินทางด้วยเท้าเปล่าไปถึงกัน ประมาณ 2 วัน ห่างกันทุกเมืองพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง พระราชโอรสหรือราชวงศ์ชั้นสูงไปปกครอง มีอำนาจในการบริหารภายในเมืองค่อนข้างมาก
นอกจากนั้นเมืองลูกหลวงยังมีความสำคัญทางด้านยุทธศาสตร์ หากมีข้าศึกเข้ามาประชิดอาณาจักรสุโขทัย เมืองลูกหลวงจะเป็นเกราะป้องกันราชธานีไว้ชั้นหนึ่ง ทำให้ข้าศึกไม่สามารถเข้าถึงเมืองหลวงได้ทันที
 
แผนภูมิแสดงเมืองลูกหลวงของอาณาจักรสุโขทัย
                3. หัวเมืองชั้นนอก (เมืองพระยามหานคร) เป็นหัวเมืองที่อยู่ห่างจากราชธานีออกไป เมืองพระยามหานครมีเมืองในปกครองมากบ้างน้อยบ้าง โดยพระมหากษัตริย์ทรงโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เจ้านายหรือข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ไปครองเมืองพระยามหานคร ในสมัยพ่อขุนรามคำแหง สันนิษฐานว่าผังเมืองพระยามหานคร ดังนี้
ทิศเหนือ          ได้แก่                      เมืองแพร่
ทิศใต้                ได้แก่      เมืองแพรก (สรรค์บุรี) เมืองสุพรรณภูมิ (อู่ทอง) เมืองราชบุรี            
เมืองเพชรบุรี เมืองตะนาวศรี
ทิศตะวันออก ได้แก่            เมืองหล่ม เมืองเพชรบูรณ์ เมืองศรีเทพ  เมืองเหล่านี้เป็นคนไทย  
และพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งให้คนไทยไปปกครองทุกเมือง 
                4. เมืองประเทศราช (เมืองขึ้น) เป็นเมืองที่อยู่ห่างไกลจนถึงชายพระราชอาณาเขต            ซึ่งถูกรวมเข้ากับอาณาจักรสุโขทัย เพราะการสงคราม หรือยอมอ่อนน้อมเพื่อมาขอพึ่ง                       ความคุ้มครอง   ชาวเมืองเป็นคนต่างชาติ ต่างภาษา ได้กำหนดให้เจ้าเมืองเดิมเป็นผู้ปกครองกันเอง           มีอำนาจสิทธิ์ขาด ในการปกครองบ้านเมืองของตนเช่นเดิม   แต่ต้องส่งเครื่องราชบรรณาการมายังอาณาจักรสุโขทัยตามกำหนด 3 ปีต่อครั้ง และเมื่อมีศึกมาประชิดกรุงสุโขทัยเมืองประเทศราชต้องเกณฑ์ไพร่พลมาช่วย เมืองที่เป็นเมืองประเทศราช ในสมัยพ่อขุนรามคำแหงสันนิษฐานว่ามี  ดังนี้
ทิศใต้                                     ได้แก่      เมืองนครศรีธรรมราช เมืองมะละกา และเมืองยะโฮว์
ทิศตะวันตก                          ได้แก่      เมืองทะวาย เมืองเมาะตะมะ และเมืองหงสาวดี
ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ    ได้แก่      เมืองน่าน เมืองเซ่า (เมืองหลวงพระบาง)                                        
เมืองเวียงจันทน์ และเมืองเวียงคำ  
ระบบกฎหมายของอาณาจักรสุโขทัย 
จากหลักฐานเท่าที่ปรากฏพบว่า กฎหมายไทยมีมาตั้งแต่สมัยพ่อขุนรามคำแหง                แห่งอาณาจักรสุโขทัย มีลักษณะเป็นกฎหมายลายลักษณ์อักษรที่จารึกลงบนหลักศิลาจารึกของ     พ่อขุนรามคำแหง
กฎหมายไทยในสมัยสุโขทัยเท่าที่ปรากฏในหลักศิลาจารึก มีดังนี้
                1. กฎหมายว่าด้วยเสรีภาพในการค้าขาย อาณาจักรสุโขทัยให้เสรีภาพในการค้าอย่างเต็มที่ ไม่มีการผูกขาดสินค้าแต่อย่างใด ดังปรากฏข้อความในหลักศิลาจารึกว่า “...เพื่อนจูงวัวไปค้า ขี่ม้าไปขาย ใครจักใคร่ค้าช้างค้า ใครจักใคร่ค้าม้าค้า ใครจักใคร่ค้าเงือนค้าทองค้า...”
                2. การเก็บภาษีผ่านด่านภายในประเทศ อาณาจักรสุโขทัยไม่เก็บภาษีระหว่างทาง หรือภาษีผ่านด่าน ซึ่งก่อนหน้านี้อาจจะมีการเก็บภาษีประเภทนี้ เพราะถ้าไม่มีการเรียกเก็บเหตุใดจึงต้องมีข้อบัญญัติให้ยกเลิกหรืองดเว้น ดังปรากฏข้อความในหลักศิลาจารึกว่า “...เจ้าเมืองบ่อเอาจกอบ                    ในไพร่ลู่ทาง...”
                3. กฎหมายมรดก ในสมัยโบราณเมื่อครั้งมนุษย์รวมกันเป็นหมู่เหล่าได้มีข้อบัญญัติว่า ผู้ใดก็ตามที่หาทรัพย์สินมาได้ให้ไว้เป็นส่วนรวม ไม่อาจตกทอดถึงลูกหลานได้ ข้อบัญญัตินี้มีข้อเสีย
ทำให้มนุษย์ขาดความกระตือรือร้นในการทำมาหากิน จะหาทรัพย์ให้พอกินไปวันหนึ่งๆ เท่านั้น
เป็นเหตุให้เศรษฐกิจไม่รุ่งเรือง ไม่มั่นคง จึงได้ยกเลิกข้อบัญญัติดังกล่าว และทำให้เกิดธรรมเนียมประเพณีให้ลูกหลานสามารถรับมรดกของผู้ตายสืบต่อๆ กันมา ส่วนรายได้ของอาณาจักรใช้วิธีเก็บภาษีแทน
                4. กฎหมายว่าด้วยลักษณะตุลาการ ตุลาการในอาณาจักรสุโขทัยต้องมีคุณสมบัติ ดังนี้
4.1 ต้องตัดสินด้วยความยุติธรรม โดยไม่เข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง
4.2 ต้องไม่ยินดีอยากได้ของของผู้อื่น
                5. กฎหมายระหว่างประเทศ ข้อความในหลักศิลาจารึกเกี่ยวกับกฎหมายระหว่างประเทศปรากฏ ดังนี้
5.1  ถ้าเมืองใดมาอ่อนน้อมยอมเป็นเมืองขึ้น ก็จะให้ความเอื้อเฟื้อช่วยเหลือ         ดังปรากฏในข้อความหลักศิลาจารึกว่า “...คนใดขี่ช้างมาหา พาเมืองมาสู่ ช่วยเหลือเฟื้อกู้...”
5.2 ผู้ที่มาอ่อนน้อมไม่มีช้าง ม้า ผู้คนชายหญิง เงินทองก็ให้ช่วยเหลือไป              ตั้งบ้านเมือง ดังปรากฏในข้อความหลักศิลาจารึกว่า “...มันบ่มีช้างบ่มีม้า บ่มีปั่วบ่มีนาง บ่มีเงือนบ่มีทองให้แก่มัน ช่วยมันตวงเป็นบ้านเป็นเมือง...”
5.3  อาณาจักรสุโขทัยสมัยพ่อขุนรามคำแหง เมื่อมีชัยชนะแก่ข้าศึกหรือจับเชลยได้พระองค์ทรงพระกรุณาไม่ให้ลงโทษหรือไม่ให้ฆ่า ดังปรากฏในข้อความหลักศิลาจารึกว่า            “...ได้ข้าเสือกข้าเสือ หัวพุ่งหัวรบก็ดี บ่ฆ่าบ่ตี...”
                6. กฎหมายว่าด้วยสิทธิในที่ดิน เป็นกฎหมายที่ให้การคุ้มครองและรับรองสิทธิในทรัพย์สินมิให้ผู้ใดมาแย่งชิง
วิธีทูลเกล้าฯ ถวายฎีกา 
อาณาจักรสุโขทัย ไม่มีการทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาเป็นลายลักษณ์อักษร เนื่องจาก                              พ่อขุนรามคำแหง ทรงแขวนกระดิ่งไว้ที่ประตูวัง ราษฎรที่มีเรื่องทุกข์ร้อนก็สามารถไปสั่นกระดิ่ง พระองค์ทรงตัดสินคดีความโดยพระองค์เอง
วิธีการพิจารณาความ 
วิธีการพิจารณาตัดสินคดีความของอาณาจักรสุโขทัยให้การตัดสินคดีความด้วย                    ความยุติธรรม  มีความซื่อสัตย์ ให้การสอบสวนข้อเท็จจริงให้ถ่องแท้ก่อนตัดสิน
  
กระดิ่งร้องทุกข์ในสมัยพ่อขุนรามคำแหง 
ที่มาภาพ  นางมาลัยวรรณ  จันทร

       * ปิตุราชาธิปไตย มาจากการผสมคำระหว่างปิตุ (พ่อ) + ราช + อธิปไตย หมายความถึง การที่ราชาหรือองค์พระมหากษัตริย์ ทรงเป็นเจ้าของผู้ใช้อำนาจอธิปไตย ในฐานะผู้ปกครอง ทั้งนี้ในการใช้อำนาจดังกล่าวพระมหากษัตริย์
ทรงปกครองราษฎรประดุจบิดาหรือพ่อกับลูก
       มาตยา  อิงคนารถและคณะ. (2546). ประวัติศาสตร์ไทยสมัยโบราณ  – กรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น. หน้า 27.
       วัลลภา  รุ่งศิริแสงรัตน์. (2545).บรรพบุรุษไทย : สมัยก่อนสุโขทัยและสมัยสุโขทัย. หน้า 64.
       *ทศพิธราชธรรม  จริยาวัตรที่พระเจ้าแผ่นดินควรประพฤติเป็นหลักธรรมประจำพระองค์หรือคุณธรรมของผู้ปกครองบ้านเมืองมี 10 ประการ คือ ทาน  ศีล  บริจาค  อาชวะ  มัททวะ  ตปะ  อักโกธะ  อวิหิงสา  ขันติ  อวิโรธนะ  
      ** จักรวรรดิวัตร 12 ประการ ประกอบด้วย 1) ควรอนุเคราะห์คนในราชสำนักและคนภายนอกให้มีความสุข  
2) ควรผูกไมตรีกับแคว้นอื่น ๆ   3) ควรอนุเคราะห์พระราชวงศานุวงศ์   4) ควรเกื้อกูลพราหมณ์และภิกษุ   5) ควรอนุเคราะห์ประชาชนในชนบทและผู้ที่เดือดร้อนขัดสน   6) ควรอุปการะสมณพราหมณ์ผู้มีศีล   7) ควรจัดรักษาฝูงเนื้อ นกและสัตว์ทั้งหลายมิให้สูญพันธุ์   8) ควรห้ามชนทั้งหลายมิให้ประพฤติผิดธรรมและชักนำให้อยู่ในกุศลจิต  9) ควรเลี้ยงดูคนจน  เพื่อมิให้ประกอบการทุจริตเป็นภัยต่อสังคม  10) ควรเข้าใกล้สมณพราหมณ์เพื่อศึกษาบุญและบาป กุศลและอกุศลให้แจ้งชัด
11) ควรห้ามจิตมิให้ต้องการไปในที่ที่พระมหากษัตริย์ไม่ควรเสด็จ   12) ควรดับความโลภมิให้ปรารถนาลาภที่พระมหากษัตริย์มิควรจะได้
       *** ราชจรรยานุวัตร 4 ประการ ประกอบด้วย 1) สะสะเมธัง ความที่ทรงพระปรีชาในการบำรุงธัญญาหารให้บริบูรณ์  
2) ปุริสะเมธัง ความที่ทรงพระปรีชาในการสงเคราะห์บุรุษที่ประพฤติดี 3) สะสะมาปะลัง ความที่ทรงพระปรีชาในการบำบัดทุกข์ บำรุงสุขของราษฎร 4) วาจาเปยยัง การตรัสพระวาจาที่อ่อนหวานแก่ชนทุกชั้น โดยควรแก่ฐานะ
       มาตยา  อิงคนารถและคณะ. (2546). ประวัติศาสตร์ไทยสมัยโบราณ – กรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น. หน้า 29.
       มาตยา  อิงคนารถ และคณะ.(2546).ประวัติศาสตร์ไทยสมัยโบราณ-กรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น.หน้า 28- 29.
       มาตยา  อิงคนารถและคณะ. (2546). ประวัติศาสตร์ไทยสมัยโบราณ – กรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น. หน้า 31 - 34. 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น