รายวิชา ประวัติศาศาสตร์ รหัสวิชา ส22102 คุณครูผู้สอน ครูชาญวิทย์ ปรีชาพาณิชพัฒนา โรงเรียนเสลภูมิพิทยาคม อำเภอเสลภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด

วันอังคารที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

ประตูสามยอด
ประตูสามยอด
  ถนนทั้ง 3 สาย ดังกล่าว สร้างมีขนาดเท่ากัน คือ กว้าง 5 วา 2 ศอก ถมดินสูง 2 ศอกคืบ เป็นระยะทางรวมกันทั้งสิ้น 281 เส้น 5 วา สิ้นค่าก่อสร้างทั้งหมด เป็นเงิน 28,038 บาท ส่วนค่าขุดคลองถนนสีลม เป็นเงิน 8,194 บาท
   ส่วนถนนในกรุงที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสร้าง ต่อมาก็ได้แก่ ถนนเจริญกรุง ตอนใน ถนนบำรุงเมือง และถนนเฟื่องนคร
     การสร้างถนนเจริญกรุง ตอนในนั้น โปรดให้ เจ้าพระยายมราช (ครุฑ) เป็นแม่กอง พระพรหมบุรีรักษ์ เป็นนายงาน สร้างเมื่อ พ.ศ. 2405 ขยายทางเดิมบ้าง ตัดใหม่บ้าง ทำเป็นถนนกว้าง 4 วา เป็นระยะทาง 25 เส้น 10 วา 3 ศอก เริ่มตั้งแต่หน้าวัดพระเชตุพน ไปออกประตูสะพานเหล็ก ต่อกับถนนเจริญกรุง ตอนนอกกำแพงเมือง สิ้นค่าก่อสร้างถมดินทำถนน และทำท่อน้ำ 2 ข้างถนน เป็นเงิน 19,700 บาท และโปรดฯ ให้สร้างตึกแถวขึ้น 2 ฟากถนน พระราชทานพระราชโอรสธิดา สำหรับตึกแถวที่สร้างเป็นตึกชั้นเดียว ว่าถ่ายแบบมาจากสิงคโปร์
    ส่วนการสร้างถนนบำรุงเมือง และถนนเฟื่องนคร โปรดให้ พระพรหมบริรักษ์ เป็นนายงาน สร้างเมื่อ พ.ศ. 2406 คือถนนบำรุงเมือง ขยายทางตั้งแต่สนามไชย ผ่านเสาชิงช้า ไปจนถึงประตูสำราญราษฎร์ (ประตูผี) เป็นระยะทาง 29 เส้น 14 วา 3 ศอก สิ้นเงินค่าก่อสร้างพูนดิน ถมถนน และก่ออิฐเป็นคัน รวมทั้งทำ่ท่อน้ำ 2 ข้างถนน เป็น 15,092 บาท สำหรับถนนเฟื่องนครขยายทาง ตั้งแต่กำแพงพระนครทางด้านทิศใต้ ที่มุมวัง กรมหลวงเทเวศร์วัชรินทร์ เป็นถนนขวาง ผ่านบ้านหม้อ ผ่านถนนเจริญกรุง ผ่านถนนบำรุงเมือง ไปจดกำแพงพระนครทางด้านทิศเหนือ ตรงวัดบวรนิเวศวิหาร เป็นระยะทางยาว 50 เส้น สิ้นค่าก่อสร้าง ถมที่ทำถนน เป็นเงินทั้งสิ้น 20,042 บาท แล้วโปรดฯ ให้สร้างตึกแถว ทรงพระราชอุทิศให้เป็นสมบัติของวัดบวรนิเวศหนึ่งแถว ของวัดราชประดิษฐ์หนึ่งแถว
     ส่วนเงินที่เอามาสร้างถนน ดังกล่าว ปรากฏว่า เป็นเงินพระคลังข้างที่ส่วนหนึ่ง กับเงินปี้จีน ซึ่งชาวจีนต้องเสีย เป็นภาษีอีกส่วนหนึ่ง ตามรายละเอียด "ประกาศเงินปี้จีน ปีชวดทำถนน" ดังนี้
     "มีพระบรมราชโองการ ให้ประกาศแก่จีนทั้งปวง ซึ่งต้องเสียเงินผูกปี้ เข้ามาช่วยราชการแผ่นดินทั้งปวงให้ทราบว่า เงินผู้กปี้รายระกา ตรีศกนั้นได้จ่ายทำถนนเจริญกรุง แลถนนหลวงใหญ่ ตลอดลงไปสำเพ็ง และคอกกระบือ แลออกไปกลางทุ่งทางคลองตรง เป็นทางขึ้นได้แล้ว ยังแต่จะต้องจัดซื้อซายกรวดเพิ่มเติมให้ทางแขงดีขึ้น ยังจะแก้ไขต่อไปอยู่ แต่ถนนบำรุงเมืองนั้น ทรงพระราชศรัทธา บริจาคพระราชทรัพย์ แต่พระคลังในที่ จ้างจีนทำแลซื้อศิลายาวกระหนาบสองข้างถนน แลได้ซื้อซายถม แลจะเพิ่มเติมต่อไป ถนนบำรุงเมืองนี้ ไม่ได้ใช้เงินปี้จีนเลย ใช้เงินในพระราชทรัพย์พระคลังทั้งสิ้น
      เงินปี้จีนปีชวด ฉอศกนี้ ได้โปรดให้จ่ายจ้างจีนทำถนนขวาง ตั้งแต่วัดบวรนิเวศวิหารลงมาจนริมวัง พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงเทเวศรวัชรินทร์ การได้เริ่มขึ้นบ้างแล้ว ถ้าทางนี้เสร็จแล้ว จะโปรดให้จ่ายสร้างถนนลงไปแต่หอกลอง แลศาลเจ้าพระกาลไชย์ศรี พระเสื้อเมือง พระทรงเมือง ลงไปจนตะพานหัน แล้วจะทำถนนสำเพ็ง ลงไปจนถึงวัดสัมพันธวงษาราม แลวัดประทุมคงคา แลแวะออกประจวบทางใหญ่เจริญกรุงในทางที่ควร การทั้งปวงจะใช้ด้วยเงินผูกปี้ ในปีชวด ฉอศกนี้ ให้จีนทั้งปวงบันดาซึ่งได้เสียเงินผูกปี้ เข้ามาในหลวงทั้งปวง จงยินดีว่า ได้เรี่ยไรกันสร้างหนทางเจริญกรุงแลหนทางถนนสำเพ็งขึ้น เปนประโยชน์แก่คนทั้งปวงนั้นเถิด อย่าคิดเสียใจว่า ต้องเสียเงินเข้ามาในหลวงเปล่า ๆ เลย ให้คิดว่า ได้เรี่ยไรกันสร้างถนนใหญ่ แล้วจะสร้างขึ้นทำนุบำรุงบ้านเมือง ซึ่งเป็นที่อยู่ด้วยกัน จีนต้องเสียเงิน เมื่อปีระกา ตรีศก แลปีชวด ฉอศก นี้ คนละสี่บาท ฤๅสองคราว รวมเปนคนละแปดบาท สร้างถนนใหญ่ ในหลวง ก็ได้เสียพระราชทัรพย์ ของพระคลังข้างที่ สร้างถนนบำรุงเมืองขึ้น เหมือนเข้าเรี่ยไรกับจีนฉันนั้น ให้จีนทั้งปวงชื่นชมยินดีเถิด"
   การสร้างถนนทั้งหมด ได้สำเร็จเมื่อ พ.ศ. 2407 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงโปรดฯ ให้มีการฉลองที่หน้าพระที่นั่งไชยชุมพล ถึง 3 วัน พร้อมทั้งพระราชทานนามถนนใหญ่ ทังตอนในพระนคร และตอนนอกพระนครว่า "ถนนเจริญกรุง" ถนนที่ผ่านเสาชิงช้า พระราชทานนามว่า "ถนนบำรุงเมือง" (ทราบว่าถูกเปลี่ยนชื่อเป็น ถนนกัลยาณไมตรี ไปเสียแล้ว) และถนนขวาง พระราชทานนามว่า "ถนนเฟื่องนคร"
ถนนเจริญกรุง
ถนนเจริญกรุง ในอดีต
  นี่คือเมื่อแรกมีถนนในกรุงเทพฯ
     ครั้นถึงรัชกาล พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าอยู่หัว กรุงเทพฯ ก็ได้มีถนนมากขึ้นเป็นลำดับ
     แต่ถนนเหล่านั้น สร้างขึ้นในสมัย เมื่อใช้การขี่ม้า และรถม้าเป็นพาหนะ ดังนั้น ถนนส่วนใหญ่ จึงสร้างไม่มั่นคงและแข็งแรงเหมือนอย่างเดี๋ยวนี้
      เมื่อมีรถยนต์เข้ามาวิ่ง ในกรุงเทพฯ เมื่อปลายรัชกาลที่ 5 ถนนหนทางจึงได้ทำมั่นคงแข็งแรงขึ้น และปลายรัชกาลนี้เอง ที่ได้มีถนนลาดยางมะตอยเกิดขึ้น
     ปัจจุบัน การสร้างถนน รัฐบาลทุกรัฐาล ถือเป็นเรื่องสำคัญรีบด่วน เพราะการพัฒนาประเทศนั้น ถนนเป็นปัจจัยที่สำคัญอย่างหนึ่ง
 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น